4 เช็กลิสต์วางแผนภาษีเพื่อคุณหมอโดยเฉพาะ

โดย จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์, CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย PLAN WELL TO LIVE WELL

4 เช็กลิสต์วางแผนภาษีเพื่อคุณหมอโดยเฉพาะ

โดย จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์, CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย PLAN WELL TO LIVE WELL
CFP_Aug_ST_0927

4 เช็กลิสต์วางแผนภาษีเพื่อคุณหมอโดยเฉพาะ

จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ นักวางแผนการเงิน CFP®

จิณณรักษ์-13035027

ธุรกิจเพื่อสุขภาพที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของแพทย์ และคุณภาพของบริการเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเงิน และต้นทุนธุรกิจที่ถูกต้องเหมาะสม การวางแผนภาษีก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เจ้าของธุรกิจต้องใส่ใจ หากคุณหมอท่านใดตั้งใจจะเปิดคลินิก แต่ยังไม่รู้ว่าจะวางแผนภาษีอย่างไรให้ถูกต้อง เราจะพาไปรู้จักกับ 4 เช็กลิสต์ที่จะทำให้การจัดการเรื่องภาษีเป็นเรื่องง่ายกัน

1. เช็กหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ‘สถานพยาบาล’ กันก่อน

การพิจารณายื่นเปิดเป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 จะส่งผลต่อการวางแผนภาษีในอนาคตได้ 2 กรณี

  1. หากขึ้นเป็นสถานพยาบาลอย่างถูกต้องธุรกิจได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
  2. หากไม่ได้รับอนุญาต หรือ ไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ธุรกิจยังต้องเสีย VAT เนื่องจากรายได้จากธุรกิจถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

นอกจากนี้ การเปิดสถานพยาบาลยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขในการขออนุญาตที่แตกต่างกัน ประกอบไปด้วย

  1. สถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืนเช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด และคลินิกแพทย์แผนไทย เป็นต้น
  2. สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยค้างคืนเช่น โรงพยาบาล สถานพยาบาลและการบำรุงครรภ์ที่สามารถคลอดลูกได้ เป็นต้น ซึ่งสถานพยาบาลประเภทนี้จะมีการกำหนดสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพกับจำนวนเตียงเอาไว้

2. เช็กเงินได้ของแพทย์

ไม่เพียงแต่จะต้องพิจารณาการขออนุญาตประกอบกิจการเป็นสถานพยาบาลเท่านั้น แต่การวางแผนภาษีสำหรับธุรกิจสุขภาพยังต้องพิจารณาถึงเงินได้ของแพทย์ผู้เป็นเจ้าของกิจการด้วย จะช่วยทำให้สามารถวางแผนการหักค่าใช้จ่ายและการลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้อง ซึ่งโดยทั่วไปเงินได้ตามกฎหมายมี 8 ประเภท แต่เงินได้ของแพทย์จะมีด้วยกัน 4 ประเภท ซึ่งจะประกอบไปด้วย

  1. เงินได้ประเภทที่ 1 : เงินได้จากสัญญาจ้างแรงงาน
    เงินได้ส่วนนี้จะเป็นเงินที่แพทย์ได้รับจากโรงพยาบาลที่ทำงานประจำ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ซึ่งจะรวมเงินเดือน เงินจากการขึ้นเวร และค่า OT จากการทำงาน แพทย์สามารถนำเงินได้ไปหักค่าใช้จ่าย 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

  2. เงินได้ประเภทที่ 2 : เงินได้ไม่ประจำ
    เงินส่วนนี้มักจะเป็นเงินจากการรับจ๊อบพิเศษต่างๆ เช่น การรับเข้าเวรจากโรงพยาบาลที่ไม่ได้ประจำ รวมไปถึงเงินที่ได้จากตำแหน่งและหน้าที่พิเศษ โดยเงินส่วนนี้จะถือเป็นเงินได้มาตรา 40 (2) สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาทเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายที่หักจากเงินได้ประเภทที่ 1 

  3. เงินได้ประเภทที่ 6 : เงินได้จากคลินิก หรือ สถานพยาบาลประเภทไม่มีเตียง
    เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) แพทย์สามารถเลือกหักค่าใช้ได้ 2 แบบ คือ หักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาคิดเป็นร้อยละ 60 

  4. เงินได้ประเภทที่ 8 : เงินได้จากการเปิดสถานพยาบาลมีเตียง หรือ มีขายยาในคลินิก
    ถือเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจมาตรา 40 (8) แพทย์สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาร้อยละ 60 หรือสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้
  5. เช็กประเภทในการประกอบกิจการ

การเลือกประเภทในการประกอบกิจการนี้จะส่งผลต่อการวางแผนภาษีในอนาคต ดังนี้

  1. กรณีเลือกเปิดคลินิกในนามบุคคลธรรมดา
    เป็นการลงทุนคนเดียว หรือ ลงทุนร่วมกับบุคคลตั้งแต่ 2 คนในลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้มีการจดทะเบียน วิธีนี้ไม่ต้องทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี แต่เมื่อถึงเวลาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราสูงสุดที่ 35% คุณหมอจะต้องเก็บหลักฐานการเงินให้ครบถ้วน เช่น รายรับ - รายจ่ายเงินสด รวมถึงผลกำไรและขาดทุนจากคลินิก

    รายได้จากคลินิกที่เปิดในนามบุคคลธรรมดาจะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) ได้รับการยกเว้น VAT ตามมาตรา 81 (1)(ฌ) และคุณหมอจะสามารถเลือกค่าใช้จ่ายแบบตามจริง หรือ แบบเหมาร้อยละ 60% ได้

  2. กรณีเลือกเปิดคลินิกในนามของบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
    การเปิดคลินิกลักษณะนี้จะต้องมีการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี ต้องมีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี

    การเปิดคลินิกลักษณะนี้จะได้รับการยกเว้น VAT และถือเป็นเงินได้ตามาตรา 40 (6) เช่นกัน อัตราภาษีสูงสุดจะอยู่ที่ 20% ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับรายได้ สินทรัพย์ทั้งหมด และแรงงานในกิจการ และเลือกหักค่าใช้จ่ายได้แบบตามจริงเท่านั้น

4. เช็กวิธีวางแผนภาษีสำหรับแพทย์ที่ต้องการเปิดคลินิก

คุณหมอทุกคนสามารถวางแผนภาษีเบื้องต้นด้วยตัวเองตาม 3 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : พิจารณาเงินได้ และ ทำรายการทั้งหมดเพื่อวางแผนหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนภาษี

จากความรู้เรื่องเงินได้ที่อธิบายไปข้างต้น เงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 สามารถหักค่าใช้จ่ายรวมกันได้สูงสุด 100,000 บาท และหากลองสังเกตเงินได้ประเภทที่ 6 และ 8 ดีๆ ก็จะพบว่า คุณหมอสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ แบบเหมาร้อยละ 60 ได้ นั่นหมายความว่า หากคุณหมอสามารถเปลี่ยนเงินได้ประเภทที่ 1 หรือ 2 มาเป็นประเภทที่ 6 หรือ 8 ได้ คุณหมอก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น 

ขั้นตอนที่ 2 : พิจารณาผลประกอบการและเสียภาษีตามที่ระบุไว้

คุณหมอจะต้องเลือกเสียภาษีให้ตรงกับประเภทในการประกอบกิจการ แต่นอกจากจะเสียภาษีแบบปกติแล้ว คุณหมอลองวางแผนภาษีเพิ่มโดยการพิจารณาผลขาดทุนสะสม 5 ปีร่วมด้วย เพราะผลประกอบการที่ขาดทุนสะสม 5 ปีสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แถมยังเป็นวิธีประหยัดภาษีที่ถูกกฎหมายที่หลายคนมักมองข้ามอีกด้วย

ขั้นตอนที่ 3 : พิจารณารายการลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไข

และขั้นตอนสุดท้าย คุณหมอก็สามารถทำรายการลดหย่อนภาษีตามรายการอื่นๆ ที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีส่วนบุคคลได้ เช่น ประกัน กองทุน การลงทุนอื่นๆ 

อย่างไรก็ดี การวางโครงสร้างภาษีสำหรับธุรกิจนั้นยังมีเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกหลายปัจจัย เช่น การวางแผนภาษีจากการวางโครงสร้างเงินทุน การใช้สิทธิเครดิตทางภาษีสำหรับธุรกิจ รวมไปถึงวิธีการทำเอกสารทางการเงินอื่นๆ ที่มีเนื้อหาซับซ้อนและรายละเอียดมากมาย 

จะดีกว่าไหม? หากคุณจะมีเวลาเพื่อไปบริหารธุรกิจและดูแลคนไข้ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องมาเป็นกังวลกับเรื่องภาษีและการบริหารจัดการเงิน การมองหานักวางแผนการเงินที่ให้บริการวางแผนภาษีได้อย่างตรงจุดก็เป็นทางเลือกที่ดี

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง: วางแผนภาษี หมอ

  บทความที่เกี่ยวข้อง