หุ้น VI รุ่นใหม่ไม่มี Moat

โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ชั้นแนวหน้า

หุ้น VI รุ่นใหม่ไม่มี Moat

โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ชั้นแนวหน้า
moat

หุ้นที่ “Value Investor” เล่นหรือลงทุนนั้น  มีหลายแบบและก็มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจและหุ้นในขณะนั้น  เพราะ VI โดยเฉพาะของไทยนั้น  มีหลายแบบมาก  ถ้าจะว่าไป  เวลานี้นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จและมีพอร์ตขนาดใหญ่แทบทุกคนก็เป็นหรือเรียกตัวเองว่าเป็น  “VI” แทบทั้งนั้น   และพวกเขาต่างก็ยกคำจำกัดความของคำว่า  VI ว่าคือการซื้อหุ้นในราคาที่ถูกหรือต่ำกว่า “มูลค่าที่แท้จริง” และขายเมื่อราคาสูงเกินไปแล้ว

และนั่นก็คือสิ่งที่พวกเขาทำ  นั่นก็คือ  ประเมิน “มูลค่าที่แท้จริง” ของหุ้น  ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนก็จะมีมุมมองต่อบริษัทหรือกิจการแตกต่างกันมาก  บางคนคาดการณ์หรือเชื่อว่ากำไรของบริษัทจะ “โตแบบก้าวกระโดด” เพราะบริษัทหรือธุรกิจของบริษัทกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี  มี “S-Curve” หรือเส้นทางการเติบโตอย่างรวดเร็วใหม่ที่จะทำให้กลายเป็น  “Global Brand” หรือเป็น “ยี่ห้อระดับโลก” เป็นต้น  ดังนั้น  มูลค่าของบริษัทก็ควรจะต้องสูงมาก  ราคาหุ้นที่สูงจนทำให้ค่า PE สูงในระดับ 30-40 เท่าก็ไม่แพง  ซื้อไว้แล้วเดี๋ยวราคาจะวิ่งขึ้นไปเองเมื่อกำไรในไตรมาศหน้าเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ในอนาคต

และนั่นก็คือแนวคิดหรือแนวทางของ “VI รุ่นใหม่” หลาย ๆ  คนที่คิดว่า  โอกาสของการลงทุนแบบ VI ในตลาดหุ้นไทยยัง “เปิดกว้าง” มีหุ้นที่จะลงทุนแบบ VI ได้อีกมากและยังน่าจะได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีอย่างที่เคยเป็นมานานใน  “ยุคทองของ VI” จากช่วงปี 2552 หรือปีหลังวิกฤติซับไพร์ม  ถึงประมาณปี 2562 ที่เป็นช่วงของปีวิกฤติโควิด-19 เป็นเวลาถึง 10 ปี

โดยที่พวกเขาคิดว่า  สภาพหรือสถานะทางเศรษฐกิจของไทยที่ถดถอยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น  ไม่ได้กระทบกับสถานะของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั้งหมด  ยังมีบริษัทในหลาย ๆ  อุตสาหกรรมที่จะเติบโตอย่างโดดเด่นต่อไปได้อีกมากในระดับ  “ซุปเปอร์สต็อก”  บริษัทเหล่านั้นมักจะเป็นบริษัทขนาดเล็กและอยู่ในอุตสาหกรรม  “แห่งอนาคต”  ของประเทศไทยที่แข่งขันได้ในระดับโลก  เช่น  การท่องเที่ยว  การดูแลรักษาสุขภาพและความงาม  และธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและขนมที่ไทยมีความโดดเด่น  ไม่แพ้ใครในโลก!

ผมเองมีความเห็นว่า  อนาคตของเศรษฐกิจไทยนั้น  ก็คงจะอยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าว  เพราะนั่นคืออุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถไม่แพ้ประเทศอื่น  เพราะมันเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เน้นความสามารถทางด้านเทคโนโลยีที่คนไทยไม่ชำนาญ  แต่เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นทางด้านการให้บริการและความสามารถทางด้านของศิลปะที่คนไทยไม่แพ้ชาติอื่นในโลก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  อุตสาหกรรมดังกล่าวที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีขนาดใหญ่และเติบโตมานานเป็นที่ยอมรับของนานาชาติระดับหนึ่งมานานแล้ว  การที่ประเทศไทยจะสร้างหรือเพิ่มการเติบโตอุตสาหกรรมเหล่านั้นต่อไปจึงมีความเป็นไปได้สูง

แต่การเติบโตของอุตสาหกรรมนั้น  ไม่ได้เป็นเงื่อนไขเด็ดขาดว่าจะทำให้หุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมทุกบริษัทดีไปด้วย  เหตุเพราะว่า  ถ้ามีบริษัทใหม่ที่เข้ามาให้บริการ  หรือมีคู่แข่งที่เข้ามาให้บริการเพิ่มมากยิ่งกว่าการเติบโตของความต้องการแล้ว  การแข่งขันก็จะรุนแรง  ราคาค่าบริการหรือสินค้าอาจจะลดลง  หรือมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายจะลดลงจนอาจจะทำให้กำไรของกิจการลดลง  ซึ่งนั่นก็จะทำให้บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น  แทนที่จะดีขึ้น  กลับแย่ลง  ในบางกรณีที่มีผู้ให้บริการมากเกินไปมาก  ก็อาจจะทำให้บริษัทจำนวนมากล้มละลายได้

ดังนั้น  ธุรกิจที่จะดีหรือมีโอกาสที่จะเป็น  ซุปเปอร์สต็อก  จึงต้องมีอีกคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญก็คือ  จะต้องมีความสามารถหรือความโดดเด่นบางอย่างที่จะป้องกันไม่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่หรือคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเข้ามาแย่งลูกค้าได้  ในภาษาของ  “VI” ก็คือ  ธุรกิจหรือบริษัทมี  “Moat” หรือมีป้อมค่าย-คูเมือง ที่สามารถป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามายึดปราสาทหรือเมืองหรือธุรกิจของตนเองได้

ตัวอย่างของ Moat ที่เข้มแข็งมากที่สุดอย่างหนึ่งก็เช่น  โปรแกรมที่ใช้ในการรันคอมพิวเตอร์แทบทุกตัวในโลกของไมโครซอฟท์คือวินโดว์  ซึ่งต่อให้มีคนใช้คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นแค่ไหน  ทุกคนก็ต้องมาใช้โปรแกรมนี้  เป็นต้น  และนี่ก็คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นไมโครซอฟท์นั้นเพิ่มขึ้นและครองอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านมูลค่ามาตลอดแม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว

แต่ถ้าถามว่าหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่คาดว่าจะโตต่อไปเรื่อย ๆ  เร็วกว่าเศรษฐกิจโดยรวมนั้น  มีตัวไหนหรือกลุ่มไหนบ้างที่มี  Moat  คำตอบที่ชัดเจนก็คือ  มีตัวเดียว  นั่นก็คือ  หุ้นสนามบินที่มีผู้ให้บริการหลักเพียง 1 ราย และนั่นก็คงเป็นเหตุผลว่าทำไมหุ้น AOT จึงมีมูลค่ามหาศาลระดับ 1 ล้านล้านบาทและอยู่ในอันดับ 1-3 ของหุ้นใหญ่ที่สุดมานานต่อเนื่อง

ส่วนหุ้นกลุ่มธุรกิจอื่นทางด้านการท่องเที่ยว  เช่น  โรงแรมนั้น  โอกาสที่จะเติบโต  ทำกำไรได้ดีและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  นั้น  ผมกลับคิดว่าอาจจะไม่เกี่ยวกับการที่ประเทศไทยจะเติบโตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ  เลย  เหตุผลก็เพราะว่า ธุรกิจโรงแรมนั้น  ไม่มี Moat ยิ่งอุตสาหกรรมโตเร็ว  ก็ยิ่งกระตุ้นให้คู่แข่งเข้ามาให้บริการโดยการสร้างโรงแรมมากขึ้น  ห้องพักมีโอกาสล้นมากขึ้น  ราคาห้องลดลง  กำไรของบริษัทก็จะหดตัวลง  แล้วหุ้นจะไปทางไหน?

โรงแรมก็จะหนีไปลงทุนในต่างประเทศแทน  แล้วก็ไปเจอกับคู่แข่งในต่างประเทศที่อาจจะน้อยกว่า  ทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นได้บ้าง  แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพราะ “ฝีมือ” ของผู้บริหาร ไม่ใช่เรื่องที่ประเทศไทยจะเติบโตเป็นเมืองท่องเที่ยวของโลก

ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศไทยที่คน “แก่ตัวลง” และต้องใช้บริการโรงพยาบาลมากขึ้นนั้น  พวกเขาก็อาจจะลืมไปว่า  เด็กเกิดใหม่ซึ่งต้องใช้บริการโรงพยาบาลมากเช่นกันนั้น  ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น  ธุรกิจโรงพยาบาลโดยรวมจึงอาจจะไม่ได้เติบโตอะไรนัก

โรงพยาบาลที่อาจจะโตได้มากกว่าก็คือโรงพยาบาลที่มีคุณภาพสูงสามารถรักษาโรคซับซ้อนได้ดีที่สามารถดึงดูดให้คนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลของตน  และต่างชาติก็จะมา  เนื่องจากโรงพยาบาลชั้นนำของไทยนั้น  มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับระดับโลกแต่มีราคาค่าบริการต่ำกว่าคู่แข่งในย่านนี้  และเมื่อลูกค้ามาใช้บริการแล้ว  ก็มักจะไม่หนีไปไหน  เนื่องจากคนไข้ต้องรักษากับหมออย่างต่อเนื่อง  ในภาษาของ VI ก็คือ  ธุรกิจโรงพยาบาลมี  “Exit Cost” ซึ่งคล้าย ๆ  กับ  Moat ที่กันไม่ให้ลูกค้าหนีไปหาคู่แข่ง  อย่างไรก็ตาม  โรงพยาบาลที่มีคุณสมบัติแบบนั้นในไทยก็มีไม่กี่โรง

ในช่วงหลัง ๆ  เราเริ่มเห็นโรงพยาบาลที่ให้บริการด้านความงาม  โรงพยาบาลเฉพาะทางอย่างเช่นโรงพยาบาลฟัน  หรือโรงพยาบาลช่วยให้ตั้งครรภ์  เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ  โรงพยาบาลเหล่านี้ก็ประสบปัญหาแบบเดียวกับโรงพยาบาลทั่วไปนั่นก็คือ  ไม่มี  Moat  พอมีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้น  อานิสงค์จากการที่คนรุ่นใหม่ต้องการ “ความงาม” มากขึ้น  ซึ่งก็อาจจะมีสาเหตุต่อเนื่องมาจากการที่ต้องออกสื่อสังคมมากขึ้น

แต่ประเด็นก็คือ  คู่แข่งหรือ Supply ที่เป็นคลินิคหรือโรงพยาบาลแบบเดียวกันก็เพิ่มขึ้นได้แบบไม่จำกัด  เมื่อใดก็ตามที่จำนวนผู้ให้บริการเพิ่มเกินกว่าผู้ต้องการใช้บริการ  ธุรกิจก็จะตกต่ำลง  ดังนั้น  บริษัทที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันจึงไม่น่าจะเป็นธุรกิจที่ดีสุดยอดได้  ว่าที่จริง  คลินิกเสริมความงามธรรมดานั้นล้มหายตายจากกันไปมากแล้ว  ในอนาคตผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดสถานการณ์แบบนั้นอีกไหมกับธุรกิจโรงพยาบาลเฉพาะทางอื่น ๆ

 

ธุรกิจกลุ่มสุดท้ายที่เป็นความหวังของ VI รุ่นใหม่ก็คือ  หุ้นที่ขายของกินของใช้ในชีวิตประจำวันให้แก่บุคคลทั่วไปที่ “ไม่ใช่สินค้าจำเป็น”  เช่น  ขนมขบเคี้ยว  น้ำชา  น้ำหวาน  อาหารภัตตาคาร  เครื่องสำอาง  ทั้งหมดนั้น  ถ้าจะดูเฉพาะในประเทศไทยก็เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างอิ่มตัวเพราะจำนวนคนไทยโดยโดยเฉพาะที่อายุน้อยที่เป็นลูกค้าหลัก  มีจำนวนลดลง

หุ้นที่ VI ชอบ  มักจะเป็นบริษัทที่มียอดขายเพิ่มขึ้น  ส่วนใหญ่ก็มาจากการส่งออก  หรือขายให้นักท่องเที่ยว  หรือไม่ก็เพิ่มขึ้นเพราะบริษัท  “มีความสามารถทางการตลาดเหนือกว่าคู่แข่ง” สตอรี่ก็มักจะบอกว่ายอดขายและกำไรจะโตต่อเนื่องยาวนาน  แต่ถ้าวิเคราะห์ลึกลงไปก็จะพบว่า  บริษัทไม่มี  Moat ที่จะป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด

ประเด็นของผมก็คือ  สินค้าเกี่ยวกับผู้บริโภคของไทยที่ส่งออกไปขายให้คนต่างชาตินั้น  มักจะประสบปัญหาที่สำคัญก็คือเรื่องของ “ภาพพจน์” ที่ว่า  คนบริโภคนั้น  มักจะ  “มองขึ้น” คืออยากใช้สินค้าของประเทศที่พัฒนามากกว่าตนเอง  ดังนั้น  ถ้าตลาดของสินค้าอยู่ที่ประเทศที่พัฒนากว่าไทย เขาอาจจะซื้อน้อยลง  ลองนึกถึงว่าคนไทยชอบสินค้าของประเทศไหนก็จะพบว่าเป็นสินค้าของประเทศที่พัฒนาสูงกว่าเราเป็นส่วนใหญ่  เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้  มากกว่ามาจากประเทศอย่างเวียตนาม  เช่นเดียวกัน  สินค้าของจีนในสมัยที่เขายังพัฒนาต่ำกว่าเรา  เราก็ไม่ชอบใช้  แต่เวลานี้เราก็เริ่มใช้แล้วเพราะเขาพัฒนามากกว่าเราแล้ว

ดังนั้น  ถ้าบริษัทไหนบอกว่าเขาจะขายของไปที่ตลาดไหนมากขึ้นมาก ๆ  ก็ต้องระวังว่าจะทำได้แค่ไหน  ถ้าประเทศนั้นพัฒนาไปมากกว่าเรา  ซึ่งเวลานี้ก็รวมถึงตลาดจีนด้วย

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  ถ้าจะลงทุนในหุ้นที่อาจจะดูเหมือนว่าจะเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก” ที่อาจจะกำลัง “โตเร็ว” และอยู่ในอุตสาหกรรม “แห่งอนาคต” ของไทย  ก็พึงระวังว่า หุ้นเหล่านั้นอาจจะไม่มี  Moat  และจะมีความเสี่ยงว่า  อยู่ ๆ  ผลประกอบการก็ “เดี้ยง” ไปซะงั้น

 


  บทความที่เกี่ยวข้อง