กลุ่มธุรกิจ Modern trade ในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องท่ามกลางความท้าทายหลายด้านของเศรษฐกิจไทย
ภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ร้านค้าปลีกประเภท Modern trade มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่ายังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านกำลังซื้อจากภาวะหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 และในปี 2025 ยังได้อานิสงส์ชั่วคราวจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเติบโตของธุรกิจ Modern trade ในปี 2024 อยู่ที่ 5% และคาดว่าจะเติบโตราว 4.6% ในปี 2025 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกยังมีแนวโน้มต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจากช่องทางออนไลน์ทั้งภายในและภายนอกประเทศตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและความคาดหวังของผู้บริโภคที่มากขึ้นจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริโภคของผู้บริโภค นอกจากนี้ ธุรกิจยังต้องเผชิญความท้าทายจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน
ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่องทางออนไลน์ รวมทั้งความท้าทายจากการปรับกลยุทธ์การเติบโตให้สอดรับกับเทรนด์ ESG โดยการแข่งขันที่รุนแรงมาจากทั้งกลุ่มร้านค้าประเภทเดียวกันและร้านค้าออนไลน์ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องหันมาให้ความสำคัญกับการขายสินค้าผ่าน Omnichannel ทั้งหน้าร้านควบคู่กับออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการร้านค้าและเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ เทรนด์ ESG ยังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ จากการผลักดันของภาครัฐ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของผู้บริโภค สะท้อนได้จากการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริม Circular economy ตลอดจนการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมและธรรมาภิบาลและการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส รวมไปถึงการเพิ่มสัดส่วนของสินค้าที่มีความยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้บริโภคจะให้ความสนใจในสินค้าที่มีความยั่งยืนมากขึ้น แต่ราคาที่ค่อนข้างสูงและตัวเลือกในตลาดที่น้อยยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสินค้ากลุ่มนี้ ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มเพื่อกระตุ้นยอดขายและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
บทความที่เกี่ยวข้อง