หุ้นโลก (all time) Hi หุ้นไทย (long time) Lo

โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ชั้นแนวหน้า

หุ้นโลก (all time) Hi หุ้นไทย (long time) Lo

โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) ชั้นแนวหน้า
กลยุทธ์การลงทุนระยะยาวที่สั้นที่สุด

หุ้นโลก  ซึ่งดัชนีหลัก ๆ  ก็คือ S&P500  Nasdaq และดัชนี Dow Jones  ต่างก็ปรับตัวขึ้นจน “สูงสุดในประวัติศาสตร์” หรือใกล้จุดสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว  และก็เช่นเดียวกับหุ้นในหลาย ๆ  ตลาดที่นักลงทุนติดตามกันเช่น ญี่ปุ่นหรือแม้แต่จีนฮ่องกงเอง  ที่อดีตเคยซบเซาเงียบเหงามานาน  ในระยะเร็ว ๆ  นี้  ดัชนีหุ้นก็วิ่งขึ้นเร็วสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักลงทุนทั่วโลก

    ตรงกันข้ามกับหุ้นไทยที่ย่ำแย่มานานนับ 10 ปี และปีนี้ก็ยังแย่อยู่  และก็แย่มากขึ้นไปอีกโดยที่คนก็โทษภาษีการค้าของทรัมป์ราวกับว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ถูกกระทบหนัก  เพราะความเป็นจริงก็คือ  แทบทุกประเทศ  ทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต่างก็โดนเหมือนกัน  แต่ตลาดหุ้นของพวกเขาก็ยังทำผลงานได้ดีมากแบบ  “ผิดคาด”  ทำไมตลาดหุ้นไทยจึงแทบจะเป็นตลาดหุ้นเดียวที่แย่  และนับจากต้นปีเราก็เป็นตลาดที่  “ตกมากที่สุด” ในบรรดาตลาดหุ้นหลัก ๆ  ของย่านนี้  

    บางทีปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยแย่และตลาดหุ้นอื่นดีนั้น  อาจจะเป็นเรื่องอื่นมากกว่า  และก็อาจจะเป็นปัจจัยระยะยาวที่ดำเนินมานานพอสมควรแล้วและก็กระทบและมีผลต่อตลาดหุ้นมาตลอด  เรื่องสงครามการค้านั้น  อาจจะไม่ได้มีผลมากอย่างที่คิด  และถึงจะมีก็อาจจะน้อยกว่าเรื่องของเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้าน AI ที่อาจจะก่อให้เกิดผลดีต่อตลาดหุ้นที่สามารถลบล้างผลเสียของสงครามการค้าได้  โดยเฉพาะในประเทศที่มีความสามารถหรือความคิดสร้างสรรค์ในการใช้เทคโนโลยีสูง

    ผมเองไม่มีคำตอบที่ถูกต้องว่าเกิดอะไรขึ้น  แต่ก็จะใช้  ประวัติศาสตร์ของดัชนีตลาดหุ้นของประเทศหรือตลาดหลัก ๆ  มาอธิบายเท่าที่จะทำได้  โดยการมองย้อนหลังกลับไปเป็นระยะ ๆ  คือ  10 ปี  5 ปี  และจากต้นปีถึงวันนี้ประมาณ 6-7 เดือน ตามลำดับ

    ตลาดหุ้นที่ดีที่สุดมองย้อนหลังไป 10 ปี ก็คือ Nasdaq ที่ประกอบไปด้วยหุ้นดิจิทัลไฮเท็คและแน่นอน  AI ที่โดดเด่นที่สุดของโลก  ดัชนีแนสแด็กในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นปรับตัวขึ้น 3 เท่าหรือ 300% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้น 16.1% ในเวลาติดต่อกัน 10 ปี  หุ้น 7 นางฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในดัชนีนั้นเติบโตยิ่งกว่ามาก  หุ้นอย่าง NVIDIA น่าจะเติบโตเป็น 100 เท่าและกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลาเพียงไม่กี่ปี

    มองย้อนหลังไป 5 ปี  ดัชนีแนสแด็กก็โตขึ้น 95.5% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 14.9% ซึ่งก็ยังแสดงให้เห็นว่า  ดัชนีก็ยังเติบโตเร็วอยู่ทั้ง ๆ  ที่ ขนาดของบริษัทหรือหุ้นนั้นใหญ่มาก “คับโลก” อยู่แล้ว  

    จากสิ้นปีที่แล้วหรือต้นปีถึงวันนี้  มีช่วงที่ดัชนีตกลงมาแรงในช่วงต้นปีที่เกิดการประกาศสงครามการค้าของทรัมป์ทำให้ดัชนีตกลงมาแรงกว่า 10% และคนคิดว่า “หมดยุคหุ้นบูม” ที่ดำเนินมายาวนานแล้ว   แต่หลังจากนั้น  ดัชนีก็ปรับตัวขึ้นมาใหม่และสูงขึ้นไปกว่าเดิมที่เคยเป็นจุดสูงสุด  นับจากต้นปี  ดัชนีปรับตัวขึ้นประมาณ 3.2% และตลาดหุ้นเต็มไปด้วยความคึกคัก  สถิติต่าง ๆ  ถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง

    ดัชนีหุ้น S&P 500 ซึ่งเป็นตัวแทนโดยรวมของเศรษฐกิจอเมริกันเองนั้น  ดูเหมือนจะชี้ว่าอเมริกายังคงแข็งแกร่งและเป็นผู้นำโลกมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา  ไม่เหมือนอย่างที่ทรัมป์พูดว่า  “Make America Great Again” ซึ่งแฝงนัยว่าอเมริกาแย่และจะต้องฟื้นฟูอเมริกาโดยการตั้งกำแพงกันผู้อพยพและสินค้าเข้าประเทศอย่างบ้าคลั่ง

    ดัชนี S&P ปรับตัวขึ้นถึง 218% ในเวลา 10 ปี คิดเป็นผลตอบแทนบทต้นปีละ 12.3% ตลอด 10 ปี  และในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา  ดัชนีให้ผลตอบแทนไม่รวมปันผลถึง 73.5% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 11.7% ลดลงเพียงเล็กน้อยแต่ก็ยังถือว่ายอดเยี่ยมเมื่อคำนึงถึงขนาด Market Cap. ที่ใหญ่ขึ้นมาก  คือมูลค่าตลาดใหญ่เกินกว่า 2 เท่าของรายได้ประชาชาติของสหรัฐไปแล้ว  ในขณะที่บัฟเฟตต์เองเคยบอกว่า  ถ้ามูลค่าสูงเท่ากับ GDP ก็ถือว่าตลาดหุ้นแพงเกินไปแล้ว

    ตั้งแต่ต้นปี  S&P ก็เช่นเดียวกับ Nasdaq ที่มีช่วงตกใจดัชนีลดลงจากเรื่องภาษีทรัมป์  แต่ขณะนี้บวกไปแล้วจากสิ้นปีที่แล้วประมาณ 7%   และนำโดยหุ้นเท็คขนาดยักษ์อย่าง NVIDIA เป็นต้น

    จากสหรัฐ  ผมอยากกลับมาที่ประเทศกำลังพัฒนาที่กำลัง  ถูกปั้นให้เป็น “The New Great Economy” นั่นคือ  อินเดีย  และ เวียตนาม  ซึ่งผมคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจากประเทศที่จนมากและแทบไม่มีความสำคัญ  กลายเป็นประเทศที่ผู้นำระดับโลกต้องมาเยี่ยมเยียน  เจรจา  และ “เกรงใจ” เมื่อจะทำอะไรที่กระทบกับ 2 ประเทศนี้

    ดัชนีหุ้นอินเดียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นเกือบ 200% เป็น 3 เท่า  หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 11.6% ไม่รวมปันผล  และในช่วง 5 ปีหลัง  ดัชนีเติบโตขึ้นถึง 125.8% หรือเท่ากับ 17.7% ต่อปีแบบทบต้นซึ่งสูงยิ่งกว่าดัชนีแนสแด็กที่ว่าสูงมากเสียอีก  และนั่นทำให้ตลาดหุ้นอินเดียที่คนไทยแทบไม่รู้จักเมื่อ 5-6 ปีก่อน  กลายเป็นตลาดที่นักลงทุนไทยสนใจมากขึ้นมาก  ผลงานนับจากต้นปีนี้ก็ยังทำได้ดีคือบวกประมาณ 5-6% 

    ดัชนีตลาดหุ้นเวียตนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้น 135% หรือให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 8.9% แบบทบต้นไม่รวมปันผล  ในช่วง 5 ปี  ดัชนีปรับตัวขึ้น 67.6% หรือให้ผลตอบแทน 10.9% ซึ่งก็ต้องถือว่าค่อนข้างดีทีเดียวเมื่อคำนึงถึงว่าเวียตนามยังเป็นตลาด “Frontier Market” ที่สถาบันนักลงทุนขนาดใหญ่ของต่างชาติยังไม่สามารถเข้ามาลงทุนได้

    อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นเวียตนามจะดีขึ้นเรื่อย ๆ  ดัชนีหุ้นตั้งแต่ต้นปีมาถึงวันนี้ปรับตัวขึ้นมาแล้วถึง 15%  สูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง  โดยเฉพาะหลังจากที่ตกลงดีลการค้ากับอเมริกาได้สำเร็จ

    ตลาดหุ้นฮั่งเส็งซึ่งผมใช้เป็นตัวแทนของตลาดหุ้นจีนนั้น  ดูเหมือนว่าจะคล้ายตลาดหุ้นไทยที่สุดในแง่ที่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองที่ทำให้ประเทศถอยหลังกลับไปในด้านของความเป็นเสรีทางเศรษฐกิจและการเมืองตั้งแต่เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน  ดัชนีฮั่งเส็งลดลงมาประมาณ 25% ในเวลา 10 ปีหรือลดลงเฉลี่ยปีละ 2.8% แบบทบต้น  หรือเรียกว่าเป็น  “Loss Decade”

    ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  ดัชนีก็ยังลดลงประมาณ 10% หรือลดลงปีละ 2.1% แบบทบต้น  อย่างไรก็ตาม  หลังจากที่ดูเหมือนว่าจะมีการปรับในเรื่องของการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงเร็ว ๆ  นี้ของรัฐบาล  ดัชนีฮั่งเส็งก็เริ่มดีขึ้นมากทั้ง ๆ  ที่สงครามการค้ารุนแรงและอนาคตของเศรษฐกิจจีนก็ยังไม่สดใส  ดัชนีตั้งแต่ต้นปีได้ปรับตัวขึ้นถึง 12.9%  เราคงต้องจับตาดูต่อไปว่าจีนกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน

    ตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นเคยตกต่ำเป็น Loss Decade มาไม่น้อยกว่า 10-20 ปี  แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว  ด้วยการปฎิรูปอย่างสำคัญของชินโสะอาเบะนายกรัฐมนตรี  ได้ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความหวังและพร้อมกลับมามีบทบาทมากขึ้นในโลก

    ดัชนีนิกเกอิปรับตัวเพิ่มขึ้น 126% ในเวลา 10 ปีคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 8.5% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แทบไม่ได้ดอกเบี้ยเลยเป็นเวลาสิบ ๆ ปีติดต่อกัน  ผลตอบแทน 5 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 65% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 10.6% ซึ่งก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และสุดท้าย  ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันก็ยังเสมอตัวแม้ว่าต้องเผชิญกับภาษีทรัมป์
    กล่าวโดยสรุปแล้วก็ต้องถือว่าตลาดญี่ปุ่นน่าจะสะท้อนว่า  ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะ  “Loss Decades” แล้วอย่างสมบูรณ์จากการที่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจที่หยุดยั้งการถดถอยของ GDP ที่เคยดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน

    สุดท้ายก็คือ  ตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมา 10 ปี  ดัชนีลดลงต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่มีปัญหาทางการเมืองซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้และเกิดการรัฐประหารซึ่งทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงการที่ประชากรแก่ตัวลงและขาดการพัฒนาการศึกษาและเทคโนโลยี  ผลก็คือ  ดัชนีช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลดลง 22% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ -2.5%
ในขณะที่มองย้อนหลัง 5 ปี  ดัชนีลดลง 15.6% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้น -3.3% ในช่วงเวลาติดต่อกัน 5 ปี  และถ้ามองจากต้นปีถึงวันนี้   ดัชนีก็ติดลบไปแล้วถึง 19.9% แย่ที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

ภาพของประเทศไทยและตลาดหุ้นไทยถึงวันนี้ก็คือ  เราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่เรียกว่า  “Loss Decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป” ที่ยังอาจจะไม่หมดและยังไม่เห็นวี่แววว่าจะฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันสั้นแบบของจีนหรือญี่ปุ่น


  บทความที่เกี่ยวข้อง